วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

RFID - การชี้บ่งด้วยคลื่นวิทยุ


RFID อาร์เอฟไอดี ย่อมาจาก Radio Frequency Identification แปลว่า การชี้บ่งด้วยคลื่นวิทยุ เป็นการใช้เทคโนโลยีคลื่นวิทยุซึ่งประกอบด้วยตัวรับและตัวส่งสัญญาณเพื่อที่จะระบุคุณลักษณะของวัตถุ โดยวัตถุนั้นอาจเป็นอุปกรณ์ พาเลท หรือแม้กระทั่งเป็นชิ้นงานเป็นชิ้น ๆ

RFID Tag หรือป้ายอาร์เอฟไอดีอาจเป็นได้ตัวรับหรือส่งสัญญาณ ป้ายที่เป็นตัวส่งสัญญาณจะมีแหล่งพลังงานที่ช่วยให้สามารถส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องได้ ในขณะที่ป้ายรับสัญญาณจะรับพลังงานจากคลื่นวิทยุที่ส่งออกมาจากตัวอ่าน

ความพิเศษของ RFID ที่เหนือกว่าเทคโนโลยีบาร์โค้ดคือ 
1) ความสามารถในการอ่านข้อมูลจากระยะไกล
2) ไม่มีข้อจำกัดในการอ่านข้อมูลที่ตัวอ่านและป้ายต้องมองเห็นกัน
3) มีความจุที่มากเพียงพอที่จะบรรจุสารสนเทศต่าง ๆ
4) ข้อมูลในป้าย RFID สามารถอัพเดทและเปลี่ยนแปลงได้

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Backorder - การส่งสินค้าชดเชยตามจำนวนที่ขาด


Backorder แบ็คออเดอร์ เป็นการส่งสินค้าตามจำนวนที่เคยสั่งมาแต่ส่งไปไม่ครบในคราวก่อน เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ผลิตไม่ทัน เครื่องจักรมีปัญหา สายการผลิตมีปัญหา วัตถุขาดแคลน จึงทำให้ต้องส่งสินค้าเท่าที่มีไปก่อน แล้วจึงส่งแบ็คออเดอร์ตามไป

หมายเหตุ ไม่ใช่ทุกกรณีที่ลูกค้าจะยอมรับแบ็คออเดอร์ บางครั้งการส่งสินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนในเวลาที่ลูกค้ากำหนดอาจหมายถึงการสูญเสียลูกค้าและไม่ได้รับค่าสินค้าใด ๆ จากลูกค้าเลย



ที่มา: CSCMP Glossary
ขอบคุณภาพจาก : http://www.extendcode.com

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Backhaul และ Deadhead - การขนส่งขากลับ

Backhaul (แบ็คฮอล์) เป็นส่วนหนึ่งของเที่ยวการขนส่ง (โดยทั่วไปใช้กับการขนส่งทางถนน) เป็นขากลับของการขนส่งเพื่อกลับไปยังต้นทาง ในทางอุดมคติแล้วผู้ให้บริการขนส่งจะพยายามหาของอะไรบางอย่างเพื่อขนกลับไปด้วย (ไม่ให้เสียเที่ยว)

Deadhead (เดดเฮด) การขนส่งขากลับที่ไม่ได้ขนอะไรกลับมาด้วย ภาษาไทยมักใช้คำว่า "ตีรถกลับตัวเปล่า"


ที่มา : CSCMP Glossary
ขอบคุณภาพจาก :http://www.eurekapub.eu


Picking - การหยิบของ

Picking: The operations involved in pulling products from storage areas to complete a customer order.

Picking - พิกกิ้ง แปลว่า การหยิบของ หมายถึง การดึงผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบจากพื้นที่จัดเก็บเพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการใช้งาน

Picking มีหลายวิธี เช่น

1) Discrete Order Picking เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด กล่าวคือเมื่อมีคำสั่ง (Order) มา ผู้หยิบก็เดินไปหยิบสินค้าตามลำดับรายการที่อยู่ในใบสั่งจนครบทุกชิ้น โดยหากมีคำสั่งซื้อใหม่มาก็เดินใหม่

2) Zone Picking เป็นวิธีหยิบของเมื่อโกดังหรือคลังสินค้าถูกแบ่งออกเป็นหลาย ๆ โซน โดยผู้หยิบสินค้าจะถูกกำหนดให้ไปหยิบในพื้นที่เฉพาะในโซนนั้น ๆ และส่งต่อไปยังโซนถัดไปโดยอาศัยสายพาน เรียกระบบนี้อีกชื่อหนึ่งว่า pick-and-pass หรือ หยิบแล้วส่งต่อ

3) Wave Picking วิธีนี้จะมีการส่งคำสั่งซื้อไปหลาย ๆ คำสั่ง โดยคำสั่งจะไปทุกโซน ผู้หยิบจะทำการรวมยอดของสินค้าหรือวัตถุดิบแต่ละไอเท็มแล้วหยิบรวมไปให้ โดยเมื่อส่งสินค้าไปแล้วต้องนำไปแยกแยะแบ่งตามลูกค้าอีกครั้ง อย่างไรก็ตามวิธีนี้จัดเป็นวิธีหยิบของที่เร็วที่สุดสำหรับคำสั่งซื้อที่มีหลากหลายไอเท็ม แต่ในขั้นตอนการคัดแยกไปตามลูกค้าอาจผิดพลาดได้ง่าย Wave Picking อาจแปลได้ว่า "การหยิบของแบบคลื่น" เพราะลักษณะการทำงานจะทำการหยิบของทีละกลุ่มคำสั่งซื้อจนกว่าจะเสร็จ กลุ่มคำสั่งซื้อใหม่ (เปรียบเหมือนคลื่นลูกใหม่) จะยังไม่ส่งออกไปยังโกดังจนกว่ากลุ่มคำสั่งซื้อเดิม (คลื่นลูกแรก) จะถูกดำเนินการจนแล้วเสร็จ

4) Batch Picking วิธีนี้คำสั่งซื้อจะถูกจัดเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และผู้หยิบจะหยิบของไอเท็มเดียวกัน (สำหรับหลายคำสั่งซื้อ) ในคราวเดียว จากนั้นของทั้งหมดที่หยิบจะถูกคัดแยกเพื่อนำส่งลูกค้าอีกครั้ง ระบบหยิบของแบบนี้ใช้กันทั่วไปกับอุปกรณ์ขนถ่ายอัตโนมัติ



ที่มา : CSCMP Glossary
ขอบคุณภาพจาก : http://mccombs-wall.com

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

3PL และ 4PL - โลจิสติกส์บุคคลที่ 3 และบุคคลที่ 4

3PL ย่อมาจาก Third-Party Logistics แปลว่า โลจิสติกส์บุคคลที่ 3 หมายถึง การว่าจ้างเหมาช่วงกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดขององค์กรให้บริษัทภายนอกซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นผู้ดำเนินการ

คำว่า 3PL มีการใช้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 โดยใช้เป็นคำย่อสำหรับบริษัทด้านการตลาดที่เป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาการขนส่ง ซึ่ง ณ เวลานั้นสัญญาการขนส่งจะถูกกระทำเพียงสองกลุ่มคือบริษัทขนส่ง (Carrier) และบริษัทชิปปิ้ง (Shipping) ดังนั้นเมื่อมีบริษัทการตลาดดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับคำสั่งขนส่งจากบริษัทชิปปิ้งและส่งต่อไปยังบริษัทขนส่ง (ทางราง) บริษัทการตลาดนั้นจึงกลายเป็นบุคคลที่สามในสัญญาการขนส่ง และนั่นคือจุดกำเนิดของคำว่า 3PL

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคำว่า 3PL ก็แพร่หลายไปยังกลุ่มบริษัทที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ โดยทั่วไปมักจะเป็นการบริการแบบเหมารวม ไม่ว่าจะเป็น บริการขนส่ง บริการคลังสินค้า บริการครอสด็อกกิ้ง บริการจัดการพัสดุคงคลัง บริการด้านบรรจุภัณฑ์ และบริการนำเข้า-ส่งออก

ในทางกฎหมาย 3PL จะหมายถึง บุคคลที่รับ ถือ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการขนส่งสินค้าทางธุรกิจ แต่มิได้เป็นเจ้าของสินค้านั้น

4PL ย่อมาจาก Fourth-Party Logistics แปลว่า โลจิสติกส์บุคคลที่ 4 ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินการกิจกรรมทางโลจิสติกส์ให้บริษัทอื่น ๆ แต่มีความต่างจาก 3PL ดังนี้

1) 4PL ถูกก่อตั้งในลักษณะของบริษัทร่วมทุน หรือไม่ก็มีสัญญาระยะยาวกับลูกค้าหลักเจ้าใดเจ้าหนึ่ง
2) 4PL ดำเนินการเสมือนเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียวของลูกค้าในการทำสัญญาทางธุรกิจใด ๆ กับผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์หลาย ๆ ราย
3) กิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานแทบทั้งหมดของลูกค้าจะถูกจัดการโดยบริษัท 4PL
4) บางครั้งบริษัท 3PL รายใหญ่ ๆ ก็ตั้งหน่วยงานในลักษณะของ 4PL ภายใต้โครงสร้างการบริหารของตัวเอง



ที่มา : CSCMP Glossary
ขอบคุณภาพจาก : http://www.supplychain247.com

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Pallet - พาเลท

Pallet แปลว่า พาเลท  เป็นอุปกรณ์รองรับกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เพื่อให้สามารถขนส่งไปมาได้เป็นกลุ่มก้อน

ปัจจุบันพาเลทผลิตจากวัสดุที่หลากหลาย แต่ที่นิยมจะเป็นพาเลทไม้ พาเลทพลาสติก หรือพาเลทโลหะ โดยบางพาเลทอาจมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แท็ก RFID ติดไปด้วย

พาเลทมีหลายแบบและหลายขนาด แต่สามารถแบ่งการออกแบบได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1) พาเลทแบบบล็อก หรือพาเลทลูกเต๋า (Block Design) 



เป็นพาเลทที่ใช้ไม้ (หรือวัสดุอื่น) ทรงลูกบาศก์ (หรือลูกเต๋า) ทำหน้าที่เป็นเสารองรับน้ำหนักจากแผ่นไม้ด้านบนลงสู่แผ่นไม้ด้านล่างมีจำนวนทัั้งสิ้น 9 ชิ้น ความสูงของพาเลทแบบลูกเต๋าจะเท่ากับความสูงของขาลูกเต๋าบวกด้วยความหนาของแผ่นไม้ทั้งแผ่นบนและแผ่นล่าง

2) พาเลทแบบไม้คาน (Stringer Design)


พาเลทไม้คานแบบ 2 ways

พาเลทไม้คานแบบ 4 ways

เป็นพาเลทที่ใช้ไม้แผ่น (หรือวัสดุอื่นที่เป็นแผ่น) มาตั้งเป็นเสารับน้ำหนัก โดยทั่วไปจะใช้ประมาณ 3 - 4 แผ่น และบางคร้งจะมีการเจาะร่องที่ไม้แผ่นด้านข้างให้สามารถสอดงารถยก (Fork) เข้าได้ทั้ง 4 ทาง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า 4 ways pallet

ขนาดของพาเลทก็เป็นอีกเรื่องที่น่าปวดหัว เนื่องจากมีการใช้กันอย่างหลากหลายแม้ว่าจะมีกำหนดมาตรฐานมาแล้วก็ตาม แต่ผู้ขนส่งสินค้า (รวมถึงผู้ผลิตและผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทาน) ก็ยังคงเคยชินกับรูปแบบเดิม รวมถึงบางครั้งก็ได้ใช้ขนาดเดิมที่คุ้นเคยไปออกแบบโกดัง คลังสินค้า ชั้นวางพาเลทไว้เรียบร้อยแล้ว 

เอาเป็นว่าขนาดพาเลทที่ใช้กัน ณ ปัจจุบันนี้ แบ่งออกเป็น 3 - 4 กลุ่ม ดังนี้

1) ขนาดมาตรฐานสากล (ISO 6780)

ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization (ISO) แปลว่าองค์การมาตรฐานสากล ได้แบ่งขนาดพาเลทออกเป็น 6 ขนาด ภายใต้มาตรฐานหมายเลข  ISO Standard 6780: Flat pallets for intercontinental materials handling—Principal dimensions and tolerances
ขนาด
(กว้าง × ยาว)
มิลลิเมตร
ขนาด
(กว้าง × ยาว) 
นิ้ว

Region most used in
1016 × 121940.00 × 48.00
อเมริกาเหนือ (แคนาดาและสหรัฐอเมริกา)
1000 × 120039.37 × 47.24
ยุโรปและเอเชีย เทียบเท่าขนาด 40" × 48".
1165 × 116545.9 × 45.9
ออสเตรเลีย
1067 × 106742.00 × 42.00
อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย
1100 × 110043.30 × 43.30
เอเชีย
800 × 120031.50 × 47.24
ยุโรป (เป็นขนาดที่เข้าประตูทั่วไปได้)

2) ขนาดมาตรฐานทวีปอเมริกาเหนือ (North America)

ขนาดพาเลทในอเมริกาเหนือถูกกำหนดโดยสมาคมผู้ค้าของชำ (the Grocery Manufacturers' Association; GMA) ซึ่งพาเลทมาตรฐาน ISO ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ขนาด
(กว้าง × ยาว) 
มิลลิเมตร
ขนาด
(กว้าง × ยาว) 
นิ้ว
Production Rankอุตสาหกรรมที่ใช้
1016 × 1219  40 × 481ร้านขายของชำทั่วไป
1067 ×1067  42 × 422โทรคมนาคม และ สี
1219 × 121948 × 483drums
1219 × 101648 × 404กลาโหม และ ซีเมนต์
1219 × 106748 × 425สารเคมี และ เครื่องดื่ม
1016 × 101640 × 406นมและผลิตภัณฑ์จากนม
1219 × 114348 × 457ยานยนต์
1118 × 111844 × 448Drums, เคมี
914 × 91436 × 369เครื่องดื่ม
1219 × 91448 × 3610เครื่องดื่ม, ไม้ , กระดาษ
889 × 115635 × 45.5Unknownกลาโหม
1219 × 50848 × 20Unknownค้าปลีก

3) ขนาดมาตรฐานกลุ่มประเทศยุโรป (EUR Pallet)

แต่เดิมมีเพียงขนาดเดียว ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับการขนส่งทางราง ออกแบบโดยพี่น้องตระกูลสเวนสัน (Svensson) โดยในช่วงเวลาหนึ่งเป็นพาเลทที่ใช้กันแพร่หลายในยุโรปด้วยนโยบาย "พาเลทแลกพาเลท" กล่าวคือพาเลททุกชิ้นมีความเป็นมาตรฐานและใช้วัสดุประกอบที่เหมือนกัน (ละเอียดขนาดว่าให้ใช้ตะปูได้แค่ 74 ตัวในหนึ่งพาเลท) 

ต่อมาเมื่อโลกการค้ากว้างไกลเกินกว่ายุโรป จึงได้มีการกำหนดขนาดของยูโรพาเลทออกมาใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO มากขึ้น ดังนี้

EURO pallet typeDimensions (W × L)การเทียบเคียงกับ ISO pallet 
EUR, EUR 1800 mm × 1,200 mm31.50 in × 47.24 inISO1, ขนาดเดียวกันกับ EUR
EUR 21,200 mm × 1,000 mm47.24 in × 39.37 inISO2
EUR 31,000 mm × 1,200 mm39.37 in × 47.24 in
EUR 6800 mm × 600 mm31.50 in × 23.62 inISO0, ครึ่งหนึ่งของ EUR
600 mm × 400 mm23.62 in × 15.75 inขนาดหนึ่งในสี่ของ EUR
400 mm × 300 mm15.75 in × 11.81 inขนาดหนึ่งในแปดของ EUR
ที่มาของเนื้อหาและภาพประกอบ :
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Pallet
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/EUR-pallet
[3] http://palletsvs.com/index.html
[4] http://www.bay-wood-products.com/learn-more/pallet-basics-glossary
[5] CSCMP Glossary

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Warehouse Management System (WMS) - ระบบการจัดการคลังสินค้า

Warehouse Management System (WMS) - ระบบการจัดการคลังสินค้า หมายถึง ระบบที่ใช้เพื่อจัดการกระบวนการทางธุรกิจของคลังสินค้าให้มีประสิทธิผลสูงขึ้น

ระบบดังกล่าวจะรวมถึงกิจกรรมของคลังสินค้าโดยตรงซึ่งประกอบด้วย การรับสินค้า การจ่ายสินค้าออกจากคลังสินค้า การหยิบสินค้า การเตรียมสินค้าเพื่อการส่งออก และการนับจำนวนพัสดุคงคลังตามรอบเวลา (Cycle Count)

นอกจากนี้ยังรวมถึงกิจกรรมสนับสนุนคลังสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดการอุปกรณ์ RFID การจัดการการสื่อสารข้อมูลระหว่างระบบและบุคลากรของคลังสินค้า

วัตถุประสงค์ของระบบการจัดการคลังสินค้าคือเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสูงสุดและมีการขนถ่ายสินค้าให้ประหยัดที่สุดโดยนำระบบการจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย



ที่มา : CSCMP Glossary
ขอบคุณภาพจาก : https://valleycraft.com/